แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นต้องทำยังไง อะไรคือพื้นที่อพยพ?

เพื่อนๆเคยคิดไหมคะว่าถ้าเรากำลังเที่ยวอยู่ดีๆแล้วเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น!! นักท่องเที่ยวอย่างเราจะทำยังไงดีนะ? แล้วหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวหล่ะเราควรจะอย่างไร หลายคนที่เคยมีประสบการณ์ตรงกับแผ่นดินไหวหรือได้รับการฝึกรับมือมาแล้วคงรู้วิธีเอาตัวรอดได้ไม่ยาก โอคซังก็เช่นกันค่ะทั้งได้รับประสบการณ์ตรงและรับการฝึกรับสถานการณ์จากศูนย์ภัยพิบัติมาบ้างแล้ว จึงอยากจะมาแชร์ให้เพื่อนๆได้อ่านค่ะ

ในกรณีที่เราอยู่ในบ้านขณะเกิดแผ่นไหว

หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในกรณีที่เราอยู่ในบ้าน ห้องในโรงแรม หรือบ้านพักแบบairbnb ก็ควรระมัดระวังกันเป็นอย่างดีเช่นกัน การเกิดแผ่นดินไหวในตึกสูงของญี่ปุ่นไม่ค่อยมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยค่ะ เพราะตึกได้ถูกออกแบบมาให้รับแรงสั่นไหวอยู่แล้ว แต่ในกรณีที่เพื่อนๆพักในบ้านพักแบบ airbnb จะต้องระวังมากขึ้นเป็นพิเศษนะคะยิ่งแบบเฉพาะที่เป็นบ้านเก่ามากๆมักจะออกแบบมาให้รับแรงสั่นได้ไม่มากจึงเสี่ยงต่อการถล่ม รวมไปถึงการเกิดไฟไหม้ในย่านบ้านเก่าที่เป็นไม้ติดกันหลายๆหลัง

จา โอคซัง
จา โอคซัง

เพราะในการเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง มักจะมีเหตุการณ์ไฟไหม้ตามมาค่ะ จากการใช้แก็สทำอาหารขณะเกิดแผ่นดินไหว หรือไฟฟ้าลัดวงจร

วิธีเอาตัวรอดในบ้านหากเกิดแผ่นดินไหว

  1. หากทำอาหารอยู่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำคือปิดเตาแก็ส แล้วหลบหาที่กำบัง
  2. วิ่งไปเปิดประตู แล้วหาที่กำบัง(ในกรณีที่ตึกไหวอย่างรุนแรงอาจทะให้รูปทรงประตูเปลี่ยนแปลงไปทำให้เราเปิดประตูไม่ออกค่ะ ดังนั้นเราต้องรีบเปิดประตูไว้ก่อน)
  3. รีบหาที่กำบังจนกว่าจะหยุดไหว เช่นใต้โต๊ะ ใต้เตียง หากไม่มีโต๊ะ เตียงให้ใช้หมอนและผ้านวมผ้าห่มของเราแทน คลุมตัวและหัวของเราให้ดี
  4. ให้อยู่ห่างจากหน้าต่าง กระจก และตู้ใบใหญ่ที่อาจล้มทับเราได้
ในการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งจะเกิดอาฟเตอร์ช้อคขึ้นได้หลังจากที่เกิดการไหวครั้งแรกเกิดขึ้น 1นาที 2 นาที 10นาที หลายชั่วโมงหรือหลายวันก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นแล้ว1ครั้งให้เพื่อนๆตั้งสติและเตรียมรับมือกับแผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ค่ะ

ข้อห้ามควรระวัง

เนื่องช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวจะสั้นมากและเกิดขึ้นแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว หากเราอยู่ในอาคารเราควรรีบหาที่กำบังไม่ควรเข้าลิฟต์ วิ่งลงบันไดหรือออกนอกอาคารเด็ดขาด เพราะสิ่งที่อันตรายที่สุดอยู่ระหว่างทางที่เราวิ่งไปค่ะเพื่อนๆ เพราะไม่รู้ว่าบันไดจะพังเมื่อไหร่ หรืออะไรจะหล่นลงมาทับเราระหว่างทางบ้าง

ในกรณีที่เราอยู่ข้างนอกบ้าน นอกอาคาร

การอยู่นอกอาคารสิ่งที่คำนึงถึงที่สุดคือการหาที่โล่งค่ะ และหลีกเลี่ยงการยืนใกล้เสาไฟต่างๆ ถ้าไม่มีที่โล่งให้เรา ต้องรีบหาที่กำบังเช่นกันค่ะ แต่หลักๆที่ต้องทำคือห้ามวิ่งไปวิ่งมา และให้ฟังเสียงสัญญาณเตือนจากกลุ่มคนในหมู่บ้านนั้นให้ดีถ้าฟังญี่ปุ่นไม่ออกให้ดูภาษากาย ภาษามือ หรือดูปฏิกิริยาคนญี่ปุ่นรอบข้างให้ดีค่ะ

ข้อห้ามควรระวัง

หลีกเลี่ยงการยืนใกล้อาคารกระจกหรือประตูหน้าต่างกระจกทั้งหมด อย่ายืนอยู่บนบันไดเด็ดขาด ถ้าเพื่อนๆกำลังเดินขึ้นหรือลงบันไดอยู่ให้ออกจากบันไดโดยด่วน

แอฟเตือนแผ่นดินไหว

ในซิมมือถือญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่จะมีการแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติแต่ก็ไม่ทั้งหมดที่จะรับประกันการแจ้งเตือนได้ค่ะ ดังนั้นโอคซังจึงแนะนำให้เพื่อนๆโหลดแอฟแจ้งเตือนเอาไว้เพื่อความสบายใจอีกส่วนหนึ่งค่ะ บางแอฟอาจเป็นภาษาญี่ปุ่นแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลยค่ะยังเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจของเราได้ค่ะ ชื่อแอฟ ” Yahoo!防災速報 ”

แอฟแจ้งเตือนแผ่นดินไหว

จา โอคซัง
จา โอคซัง

โอคซังเคยได้รับแจ้งเตือนแผ่นดินไหวเข้ามือถือครั้งนึงที่ตกใจมากค่ะ มือถือร้องและบอกว่าอีก0วินาทีแผ่นดินจะไหว แล้วไหวทันทีเลย!!! ตอนนั้นตกใจมากค่ะทำได้เพียงนั่งลงเฉยๆเพราะอยู่ข้างนอก

ศัพท์พื้นฐานที่เห็นบ่อยในแอฟ

地震=แผ่นดินไหว ให้รีบกำบัง

津波=สึนามิ ให้วิ่งขึ้นที่สูง

台風=ไต้ฝุ่น ให้อยู่ในอาคารที่พักเฉยๆ(ส่วนใหญ่ไต้ฝุ่นจะมีประกาศเตือนล่วงหน้าแม่นยำหลายชั่วโมงจึงเตรียมตัวได้ทันค่ะ)

ไม่บ่อยครั้งที่แอฟจะทำงานขึ้นมาก็มีทั้งๆที่ไม่เกิดแผ่นดินไหวจริง เขาเรียกว่าการซ้อมค่ะ หากเกิดขึ้นเพื่อนๆเองควรจะตื่นตัวและปฏิบัติตัวเสมือนว่าเกิดแผ่นดินไหวแล้วจริงๆจะปลอดภัยค่ะ โอคซังทำเป็นประจำเพื่อนบ้านชาวญี่ปุ่นเองก็เช่นกันค่ะ แต่ก็มีคนญี่ปุ่นหลายคนที่ไม่ทำตามก็มีค่ะ จนหลายครั้งเป็นเหมือนดาบสองคมที่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงชาวญี่ปุ่นหลายคนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเพราะคิดว่าเป้นแค่การซ้อมก็มีทำให้เสียชีวิตกันเยอะค่ะ เราจะเห็นได้จากในข่าวหลายข่าวของญี่ปุ่นเช่นกรณีเกิดไต้ฝุ่นระดับรุนแรงประกาศเตือนให้อยู่ในบ้านแต่ก็ยังมีคนไปนั่งตกปลาจนโดนสักกะสีตีศีรษะเสียชีวิต หรือจากภาพข่าวเหตุการณ์สึนามิที่มีการเปิดสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าถึง 3นาที แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตปกติไม่ได้รับรู้ถึงสิ่งที่กำลังจะกิดขึ้น

หลังเกิดแผ่นดินไหวควรทำอะไร ทำความรู้จักพื้นที่อพยพ

หลังจากเกิดเหตุการแผ่นดินไหวขึ้นแล้วสิ่งที่นักท่องเที่ยวหลายคนไม่รู้และมักจะทำกันคือไปที่สถานีรถไฟฟ้าเพื่อต้องการเดินทางกลับที่พัก แต่โอคซังขอบอกเลยค่ะหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นรถไฟฟ้าเหล่านี้ได้รับผลกระทบเต็มๆทำให้ปิดการใช้งานชั่วคราวหรือทั้งคืนเลยก็มี ดังนั้นนักท่องเที่ยวอย่างเราๆหรือผู้อ่านที่อ่านเจอบล็อคของโอคซังนี้ถ้าต้องเดินทางกลับที่พักให้รีบไปขึ้นรถบัสประจำทางค่ะ ถ้าหากไหวไม่รุนแรงรถบัสจะยังคงทำงานค่ะ ถ้าไม่รีบไปขึ้นก่อนคนจะแน่นมากเพราะหนีออกมาจากสถานีรถไฟค่ะ เพราะถ้าไม่ใช้รถบัสแล้วหล่ะก็จะต้องเดิน!!ค่ะ

กรณีที่เกิดแผ่นดินไหวแบบแรงมากจนมีอาคารถล่มหรือทำให้เพื่อนๆไม่สามารถกลับที่พักได้ เพื่อนๆจะต้องเดินทางไปยังพื้นที่อพยพให้ได้ค่ะ ที่นั่นจะมีที่พักชั่วคราว น้ำดื่ม อาหารให้ทุกคน

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าพื้นที่อพยพอยู่ตรงไหน?

พื้นที่อพยพมีสัญลักษณ์ง่ายๆรูปคนวิ่งเข้าวงกลมสีเขียวอันนี้ค่ะ เมื่อก่อนโอคซังก็ไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกันจนได้มาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ค่ะ โดยส่วนใหญ่ชาวเอเชียอย่างเราจะไม่ค่อยรู้จักสัญลักษณ์นี้กันเท่าไหร่

ป้ายพื้นที่อพยพ

นี่คือสัญลักษณ์ของพื้นที่อพยพค่ะ ถ้าหากเห็นสัญลักษณ์นี้ให้เดินตามไปเลยนะคะ

โดยทั่วญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในเมืองหรือต่างจังหวัดจะต้องมีพื้นที่อพยพ(evacuation area)อยู่เสมอๆที่เพียงพอต่อจำนวนประชากรนั้นๆรวมถังนักท่องเที่ยวอย่างเราๆด้วย(เขาคำนวนมาแล้ว) เพื่อนๆสามารถสังเกตได้จากป้ายบอกทางต่างๆรอบตัว

แผ่นดินไหวญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวญี่ปุ่น

เช่นในภาพนี้โอคซังถ่ายมาจากที่โตเกียวมีป้ายบอกตำแหน่งพื้นที่อพยพ(Map of the evacuation center)ไว้เยอะมากค่ะ พื้นที่สีเขียวที่เห็นในภาพจัดเป็นพื้นที่อพยพทั้งหมด หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเพื่อนๆอาจจะใช้ที่ใดที่หนึ่งในนี้เป็นจุดพบกับเพื่อนๆในกลุ่มได้ค่ะ ส่วนใหญ่จะจะเป็นลานสนามเด็กเล่น ลานกว้างหน้าอาคาร สวนสาธารณะเป็นต้น โดยในแต่ละพื้นที่คนในชุมชนจะได้ทำการจัดเตรียมผู้รับผิดชอบในการทำหน้าที่ดูแลกันและกันเอาไว้แล้ว ดังนั้นพยายามทำตามที่คนในชุมชนแนะนำด้วยจะดีที่สุดค่ะ คนญี่ปุ่นใจดีและอ่อนโยนกว่าที่เราคิดไว้มากเลยค่ะ

โอคซังหวังว่าหลังจากนี้หากเพื่อนๆมาเที่ยวญี่ปุ่นจะสังเกตป้ายสัญลักษณ์ต่างๆรอบตัวมากขึ้นและสามารถรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวกันได้มากขึ้นนะคะ เพราะเราคือนักท่องเที่ยวไม่ใช่คนญี่ปุ่นที่ได้รับการฝึกฝนรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ

หวังว่าบทความจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่านนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ มาตะเน้

COMMENTS